สิ่งที่ควรตรวจสอบก่อนติดตั้งฉนวนกันความร้อน
เมื่อเราคิดจะปรับปรุงบ้านให้เย็นขึ้นด้วยการติดตั้งฉนวนกันความร้อน เราควรตรวจสอบจุดต่างๆ ให้พร้อมก่อนการติดตั้ง เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและระยะเวลาลง ให้สามารถติดตั้งฉนวนและใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เมื่อเรารู้สึกว่า อาศัยอยู่ในบ้านแล้วทำไมร้อนจัง จึงคิดอยากจะปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้อยู่ในบ้านแล้วรู้สึกเย็นสบายมากขึ้น การปูฉนวนบนฝ้าเพดานก็เป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่สามารถทำได้ไม่ยาก
หากต้องการเลือกใช้ฉนวนกันความร้อน SCG รุ่น STAY COOL ก่อนอื่น แนะนำให้เตรียมความพร้อม โดยสำรวจ 4 ข้อสำคัญภายในบ้านดังต่อไปนี้ด้วยตัวเอง ก่อนให้ช่างเข้ามาติดตั้งฉนวนกัน
- โถงหลังคามีความสูงเหมาะสม หลังคาไม่รั่วซึม
- ฝ้าเพดานมีสภาพดี โครงคร่าวแข็งแรง
- เตรียมช่องเซอร์วิสให้ติดตั้งฉนวนง่าย
- สายไฟเหนือฝ้า ต้องจัดระเบียบให้เรียบร้อย และไม่มีชำรุด
1.โถงหลังคามีความสูงเหมาะสม หลังคาไม่รั่วซึม
ฉนวนกันความร้อน SCG รุ่น STAY COOL เป็นฉนวนสำหรับการติดตั้งเหนือฝ้าเพดาน ขั้นตอนแรกจึงควรตรวจสอบพื้นที่โถงหลังคาว่ามีความสูงเท่าไร อย่างน้อยควรมีความสูง 1 เมตร เพราะเป็นระยะที่ช่างสามารถทำงานได้ (ปกติแล้ว ระยะมาตรฐานจะอยู่ที่ 1.50 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ช่างทำงานได้สะดวก)
แต่ถ้ามีความสูงน้อยกว่านี้ ทีมช่างติดตั้งจะดูเป็นกรณีๆ ไป ส่วนเรื่องรั่วซึมนั้น ต้องดูว่ามีร่องรอยของการรั่วซึมบริเวณหลังคาและฝ้าเพดานหรือไม่ ถ้ามี จะทำให้ฝ้าเพดานเสียหายและส่งผลต่อลงมายังพื้นที่อื่นๆ ภายในบ้านได้ในอนาคต
ดังนั้น เมื่อพบปัญหาหลังคาหรือฝ้าเพดานรั่วซึม จะต้องซ่อมแซมแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน
ภาพ: ลักษณะการทำงานของช่างภายใต้โถงหลังคาที่มีความสูงประมาณ 1 เมตร
ภาพ: ระยะความสูงโถงหลังคามาตรฐานที่ 1.50 เมตร ช่างจะสามารถทำงานติดตั้งฉนวนได้สะดวก
2.ฝ้าเพดานมีสภาพดี โครงคร่าวแข็งแรง
การติดตั้งฉนวนแม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มน้ำหนักแบกรับให้กับฝ้าเพดาน แต่ก็ไม่มากเท่าไรนัก เพราะฉนวนกันความร้อน SCG รุ่น STAY COOL หนา 150 มม. (6 นิ้ว) ที่เป็นรุ่นหนามากที่สุดยังหนักเพียง 2 กิโลกรัมต่อตารางเมตรเท่านั้น ซึ่งฝ้าเพดานโดยทั่วไปที่ติดตั้งตามมาตรฐาน เช่น ฝ้าเพดานยิปซัมจะสามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
ถึงแม้จะมั่นใจได้ว่าฝ้าเพดานทั่วไปจะรับน้ำหนักฉนวนได้ แต่สำหรับฝ้าเพดานที่ผ่านการใช้งานมานานแล้ว เราควรจะตรวจสอบภาพรวมก่อนว่าฝ้าเพดานยังคงอยู่ในสภาพดีคือมีความเรียบ ได้ระดับในแนวราบ ไม่หย่อนยานตกท้องช้าง ไม่มีคราบน้ำ รอยแตกหรือทะลุ และโครงคร่าวที่รองรับนั้นแข็งแรงอยู่ ไม่บิดเบี้ยว มีระยะโครงตามมาตรฐาน (ระยะโครงคร่าวหลักที่ 80-120 ซม. ระยะโครงคร่าวรองที่ 40 ซม.)
หากมีส่วนใดเริ่มผิดปกติหรือเสียหาย ควรแก้ไขให้เรียบร้อยและตรงตามมาตรฐานก่อน นอกเหนือจากนี้ แนะนำให้ดูระยะความสูงจากหลังคานลงมาถึงฝ้าเพดานที่ไม่ควรเกิน 40 ซม. เพื่อให้ง่ายต่อการติดตั้งของช่าง แต่หากมีความสูงมากกว่านี้ ช่างจะหาทางติดตั้งเป็นกรณีๆ ไปซึ่งอาจทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ภาพ: โครงคร่าวฝ้าเพดานต้องอยู่ในสภาพดี มีระยะห่างตามมาตรฐาน มีระยะความสูงจากฝ้าเพดานถึงคานไม่เกิน 40 ซม.
3.เตรียมช่องเซอร์วิสให้ติดตั้งฉนวนง่าย
สำหรับบ้านที่ฝ้าเพดานมีช่องเซอร์วิสขนาดไม่น้อยกว่า 0.45 x 0.45 ซม. อยู่แล้ว ในตำแหน่งใกล้คานและไม่มีสิ่งกีดขวาง ช่างจะสามารถทำงานติดตั้งฉนวนได้ง่าย
แต่สำหรับบ้านที่ไม่มีช่องเซอร์วิส จะต้องเจาะช่องฝ้าเพดานในขนาดและตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อติดตั้งฉนวน หลังจากติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจปรับปรุงให้เป็นช่องเซอร์วิสแบบถาวรเพื่อให้ดูแลรักษาบริเวณเหนือฝ้าเพดานได้ง่าย
ภาพ: ตัวอย่างช่องเซอร์วิสที่มีขนาดเหมาะสมและอยู่ในจุดที่ช่างขึ้นไปติดตั้งฉนวนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
4.สายไฟเหนือฝ้า ต้องจัดระเบียบให้เรียบร้อย และไม่มีชำรุด
สายไฟเหนือฝ้าเพดานควรร้อยอยู่ในท่อร้อยสายไฟให้เรียบร้อย และเดินงานระบบไฟฟ้าอย่างเป็นระเบียบตามมาตรฐาน นอกจากนี้ควรตรวจดูว่าสายไฟอยู่ในสภาพดีมีกระแสไฟฟ้าพร้อมทุกเส้นหรือไม่
หากมีจุดไหนที่ติดตั้งไม่ได้มาตรฐานหรือมีกระแสไฟฟ้ารั่วจะต้องปรับปรุงแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน
ภาพ: สายไฟเหนือฝ้าเพดานต้องเดินร้อยท่ออย่างเป็นระเบียบ และไม่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว
เมื่อตรวจสอบและแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ตามข้างต้นเรียบร้อยแล้ว จะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาลงได้ เมื่อทีมช่างเข้ามาสำรวจหน้างานและพบว่ามีบางอย่างไม่พร้อม ทีมช่างจะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
รวมถึงช่วยหาแนวทางการปรับปรุงตามความเหมาะสม เพื่อให้ติดตั้งฉนวนได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย และสามารถใช้งานฉนวนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ที่มาข้อมูล : scghome